เมื่อคุณผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีลูกได้เข้ามาปรึกษาคุณหมอแล้วสิ่งที่คุณหมอจะแนะนำให้ทำการตรวจนั่นก็คือการตรวจ AMH (Anti-Müllerian hormone) โดยหลายคนยังไม่ทราบว่าการตรวจนี้เป็นการตรวจอะไร แล้วมีผลอย่างไรต่อการฝากไข่รวมถึงการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งคุณผู้หญิงที่ต้องการฝากไข่หรือต้องการทำเด็กหลอดแก้วนั้นควรทราบข้อมูลของการตรวจ AMH เบื้องต้น เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการมีลูกด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) ไปพร้อมๆ กับการเข้ามาปรึกษากับคุณหมอนั่นเองค่ะ แล้วมีอะไรบ้างที่คุณผู้หญิงต้องทราบในการตรวจ AMH นี้ มาหาคำตอบไปกับ SAFE Fertility Group กันเลยดีกว่าค่ะ
การตรวจ AMH คืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับฮอร์โมน AMH (Anti-Müllerian hormone) ตัวนี้กันก่อน ซึ่ง AMH คือ ฮอร์โมนที่ถูกสร้างมาจากรังไข่ของผู้หญิง โดยการตรวจฮอร์โมนนี้สามารถบอกได้ถึงจำนวนไข่และความสามารถในการทำงานของรังไข่ อีกทั้งยังสามารถบอกได้ถึงโอกาสการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งแพทย์จะนำผลการตรวจที่ได้ไปเป็นหนึ่งในปัจจัยของการประเมินเพื่อให้ยากระตุ้นไข่และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บไข่
“ปริมาณของไข่” และ “คุณภาพของไข่”
เมื่อพูดถึงขั้นตอนของการฝากไข่ แพทย์จะประเมินไข่ด้วย 2 ลักษณะ นั่นก็คือ 1. ปริมาณของไข่ ที่สามารถประเมินได้จากผลการตรวจเลือด และ 2. คุณภาพของไข่ ที่ประเมินได้จากผลการอัลตราซาวน์ ซึ่งแพทย์จะประเมินคุณภาพของไข่ที่ต้องการนำมาฝากจากอายุของคุณผู้หญิงด้วยเช่นกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วคุณผู้หญิงที่มีอายุยังน้อยจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่า สำหรับคุณผู้หญิงที่อายุเยอะจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงไปตามอายุ การประเมินคุณภาพของไข่จึงใช้อายุเป็นหนึ่งในปัจจัยของการประเมินที่สำคัญด้วยนั่นเอง
ปริมาณของไข่ที่เช็คได้จากการตรวจ AMH และ AFC
การตรวจปริมาณไข่ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในขั้นตอนการประเมินของการฝากไข่มากเลยทีเดียว โดยการตรวจฮอร์โมนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่สามารถบอกถึงความสามารถในการเก็บไข่ของคุณผู้หญิงได้ ฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการวิเคราะห์ปริมาณของไข่ที่ดีจึงจำเป็นต้องประกอบไปด้วย
1. การตรวจฮอร์โมน AMH (Anti-Müllerian hormone) เป็นการตรวจวิเคราะห์ค่าฮอร์โมนจากตัวอย่างเลือดของคุณผู้หญิงโดย โดยฮอร์โมนนี้ถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ที่หุ้มไข่เอาไว้ ยิ่งจำนวนไข่ในรังไข่มีมากเท่าไหร่ ปริมาณฮอร์โมน AMH ที่ได้จากผลตรวจเลือดก็จะยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะใช้การตรวจ AMH นี้ในการประเมินปริมาณไข่ที่อยู่ในรังไข่และคาดการณ์ปริมาณไข่ที่สามารถเก็บได้
2. การตรวจนับจำนวนถุงไข่ในรังไข่ หรือ AFC (Antral Follicle Count) โดยการตรวจนี้จะเป็นการอัลตราซาวด์เพื่อนับดูจำนวนฟองไข่จากรังไข่ และฟองไข่ในรังไข่นี้เป็นสิ่งที่ช่วยประเมินจำนวนเซลล์ไข่ที่มีได็
ค่า AMH ที่คุณผู้หญิงควรรู้ก่อน “ฝากไข่” และ “ทำเด็กหลอดแก้ว”
หลังจากที่ได้ผลการตรวจ AMH มาแล้วเราสามารถวิเคราะห์ผลจากการตรวจได้ดังต่อไปนี้
• AMH มากกว่า 4 ng/ml (สูง) อาจบ่งบอกถึงภาวะการเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome)
• AMH อยู่ในช่วง 1 – 4 ng/ml (ปกติ) เป็นค่า ที่เหมาะสมของฮอร์โมน
• AMH อยู่ในช่วง 0.3 – 1 ng/ml (ค่อนข้างต่ำ) เป็นช่วงค่าฮอร์โมนที่อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
• AMH น้อยกว่า 0.3 ng/ml (ต่ำ) เป็นช่วงที่บ่งบอกได้ถึงปริมาณไข่ที่เหลืออยู่น้อย ความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยากสูงขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ผลการตรวจ AMH มาแล้ว คุณผู้หญิงหลายท่านที่ได้รับผลตรวจแล้วอาจตกใจ แม้ว่าค่า AMH นั้นไม่ได้อยู่ในช่วง 1 – 4 ng/ml ซึ่งเป็นช่วงฮอร์โมนที่เหมาะสมในการฝากไข่ อาจไม่ได้หมายความว่าคุณผู้หญิงไม่สามารถฝากไข่หรือไม่สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้เลย โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อนำผลมาวิเคราะห์และวางแผนการรักษาให้แก่คุณผู้หญิงนั่นเอง
ช่วงอายุของคุณ ควรมีค่า AMH เท่าไหร่?
โดยทั่วไปคุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 24 – 29 ปี นั้นจะมีค่า AMH ที่อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งนั่นหมายความว่าปริมาณไข่ในรังไข่มีมากเพียงพอ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 – 35 ปี ค่า AMH จะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่ AMH ได้เข้าสู่ช่วงที่ต่ำลง โดยปริมาณของไข่ในรังไข่ก็จะน้อยลง สำหรับช่วงอายุ 36 – 41 ปี ค่า AMH อยู่ในระดับที่ต่ำ ไปจนถึงช่วงอายุ 42 – 47 ปี ที่ค่า AMH ต่ำกว่า 0.5 ng/ml ลงเรื่อยๆ และเมื่อเข้าสู่ช่วง 48 – 50 ปี AMH ก็จะลดลงจนแตะที่เลข 0 ซึ่งเป็นช่วงวัยทองที่หมดประจำเดือนและไม่มีการผลิตไข่แล้วนั่นเอง
ตรวจ AMH แล้ว “ฝากไข่” ได้เลยไหม?
การตรวจ AMH เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการฝากไข่ของคุณผู้หญิง ซึ่งค่า AMH นี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ผลเลยก็ว่าได้ ยิ่งค่า AMH สูง คุณผู้หญิงก็มีโอกาสเก็บไข่ได้ในปริมาณที่มากกว่าคุณผู้หญิงที่มีค่า AMH ต่ำ แต่ในทางเดียวกันค่า AMH ที่สูงเกินไปก็อาจบ่งบอกได้ถึงการเป็นภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS ซึ่งคุณผู้หญิงที่มีภาวะนี้อาจมีไข่จำนวนมากแต่เป็นไข่ที่ไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ ฉะนั้นการตรวจ AMH จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการฝากไข่ แต่คุณผู้หญิงก็ควรได้รับการตรวจอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของไข่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจนับฟองไข่ในรังไข่ หรือ AFC รวมถึงการตรวจโรคที่สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกด้วยเช่นกัน
ควรตรวจ AMH ในช่วงไหน?
การตรวจ AMH สามารถตรวจได้ในทุกช่วงของรอบประจำเดือน แต่ค่าของ AMH ที่ได้นั้นอาจบิดเบือนได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณผู้หญิงด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ รวมถึงการใช้ยาคุมกำเนิดด้วยเช่นกัน ฉะนั้นสำหรับคุณผู้หญิงที่มีการรับประทานยาจำพวกนี้ควรเข้ารับตรวจ AMH หลังหยุดทานยาไปแล้ว 7 วัน หากหยุดทานยาแล้วเข้ารับการตรวจและได้ค่า AMH ที่ต่ำ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจอีกครั้งเมื่อหยุดทานยาครบ 1 เดือน
จะรู้ได้ยังไงว่าไข่ใบไหนมี “คุณภาพ”?
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดของการประเมินคุณภาพไข่ก่อนนำไข่ไปแช่แข็ง นอกจากการคาดการณ์จากอายุของคุณผู้หญิง เพราะยิ่งอายุมากขึ้นปริมาณไข่ก็ยิ่งลดลงและร่างกายก็สามารถเสื่อมไปลงตามเวลา ซึ่งอายุที่มากขึ้นนี้ย่อมมีผลต่อจำนวนและคุณภาพแน่นอน
โดยการที่เราจะทราบได้ว่าไข่ใบไหนที่มีคุณภาพนั้นจะทราบได้อีกทีก็ต่อเมื่อเราได้นำไข่ที่ฝากไว้มาละลายและทำการปฏิสนธิกับอสุจิ แล้วนำมาทำการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อน หรือ PGT (Preimplantation Genetic Testing) ก่อนการย้ายตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิเข้าสู่โพรงมดลูก ไข่ที่มีคุณภาพต่ำนั้นจะมีลักษณะโครโมโซมหรือ DNA ที่ผิดปกติ สำหรับไข่ที่ไม่สมบูรณ์มักจะส่งผลในช่วงของการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ และมักจะไม่เกาะตัวในโพรงมดลูกในช่วงหลังการย้ายตัวอ่อนหรือส่งผลต่อการแท้งด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าความสำเร็จจากเคสคุณผู้หญิงที่มีอายุมากจึงมีอัตราต่ำกว่ากลุ่มอายุน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพของไข่ รวมถึงการตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุมากก็มีโอกาสที่ทำให้ทารกมีความผิดปกติได้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งอายุเยอะ AMH ยิ่งน้อย ยิ่งต้องรีบ “ฝากไข่” ใช่ไหม?
การฝากไข่ในช่วงที่ยังมีไข่จำนวนมากพอและมีคุณภาพมากพอ อย่างเช่น ช่วงที่อายุยังไม่เกิน 35 ปี จะช่วยให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพและปริมาณมากเพื่อนำไปปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต แต่หลังจากที่อายุมากขึ้นปริมาณและคุณภาพของไข่ก็จะลดลง ทำให้โอกาสที่จะเก็บไข่ได้นั้นก็น้อยลงไปด้วย ส่งผลให้โอกาสตั้งครรภ์ลดน้อยลงไป คุณผู้หญิงที่มั่นใจแล้วว่ายังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์เร็วๆ นี้แน่นอน สามารถวางแผนฝากแช่แข็งไข่ไว้กับ SAFE Fertility Group ได้เลย โดยอาจเริ่มจากการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ก็ได้
การตรวจ AMH นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการประเมินประสิทธิภาพในการฝากไข่ของคุณผู้หญิง แล้วยังใช้ประเมินร่วมกันกับการตรวจอื่นๆ เพื่อหาภาวะต่างๆ ของคุณผู้หญิงได้ด้วยนะคะ เช่น ภาวะมีบุตรยาก ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ วัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง แล้วยังเป็นการประเมินที่สำคัญของการฝากไข่เลยทีเดียว ฉะนั้นการทำความรู้จักกับการตรวจ AMH นี้จึงเป็นประโยชน์กับคุณผู้หญิงที่ต้องการวางแผนฝากไข่หรือกำลังจะมีเจ้าตัวน้อยด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า